เทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวิมุตยารามพิทยากร

http://technowimut.siam2web.com/

ระบบสารสนเทศ

 

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

    

1.    อธิบายความหมายและองค์ประกอบของระบบสารสนเทศได้

2.    อธิบายกระบวนการทำงานและลักษณะของระบบสารสนเทศที่ดีได้

3.    อธิบายประเภทของระบบสารสนเทศได้

4.    มีทักษะในการแสวงหาความรู้ในเรื่องระบบสารสนเทศ

5.    มีความสนใจในการนำระบบสารสนเทศไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 

สาระสำคัญ

           

             ระบบสารสนเทศ (Information Systems) เป็นกระบวนการรวบรวม บันทึก ประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ และแจกจ่ายสารสนเทศเพื่อใช้ในการวางแผน ควบคุมการทำงาน และช่วยในการสนับสนุนการตัดสินใจ โดยระบบสารสนเทศมีองค์ประกอบ 5 ส่วน คือ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ข้อมูลสารสนเทศ ผู้ใช้งาน และกระบวนการทำงาน วัตถุประสงค์ของระบบสารสนเทศ คือ ผลิตสารสนเทศที่ดี สามารถนำไปใช้ในการทำระดับต่าง ๆ ได้ ซึ่งในแต่ละระดับการทำงานในองค์การ มีการใช้ระบบสารสนเทศที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงาน และการนำสารสนเทศไปใช้ในการตัดสินใจ

            

            ระบบสารสนเทศเกิดขึ้นในองค์การมานานแล้ว แต่ไม่ได้อยู่ในรูปของระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ เช่น การยืม-คืนหนังสือในห้องสมุด มีการเก็บรวบรวมรายชื่อหนังสือ การทำบัตรรายการ การยืม-คืนหนังสือ ซึ่งการทำงานดังกล่าวอยู่ในรูปการทำงานด้วยมือ (Manual) เกี่ยวข้องกับเอกสารจำนวนมาก การผลิตสารสนเทศจึงทำได้ลำบาก ต้องใช้ระยะเวลาในการประมวลผลนาน ต่อมาเมื่อมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ ก็เริ่มมีการพัฒนาระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ทำให้การทำงานรวดเร็ว และสารสนเทศที่ได้มีความถูกต้องมากขึ้น ซึ่งในบทนี้จะกล่าวถึงระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ องค์ประกอบของระบบสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ และกระบวนการทำงานของระบบสารสนเทศ

 

ความหมายของระบบสารสนเทศ

          

            ข้อมูล (Data) คือ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการรวบรวมข้อมูล อาจจะเป็นข้อความ ตัวเลขรูปภาพ หรือเสียงก็ได้

           สารสนเทศ (Information) คือข้อมูลที่ผ่านการประมวลแล้ว เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ เช่น เกรดเฉลี่ยของนักเรียน ยอดขายประจำเดือน เป็นต้น

           ระบบสารสนเทศ (Information Systems) คือ กระบวนการรวบรวม บันทึก ประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ  และแจกจ่ายสารสนเทศเพื่อใช้ในการวางแผน  ควบคุมการทำงาน  และช่วยในการสนับสนุนการตัดสินใจข้อมูล

 

 

องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ

      องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ (Component of Information Systems) ประกอบด้วย 5 ส่วน  ดังนี้

         

1.    ฮาร์ดแวร์ (Hardware) หมายถึง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

2.    ซอฟแวร์ (Software) หมายถึง ชุดคำสั่งที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ตามต้องการ

3.    ข้อมูล (Data) หมายถึง ข้อเท็จจริงที่ได้จากการรวบรวม  เช่น  ตัวเลข  ข้อความ  รูปภาพ หรือเสียง

สารสนเทศ (Information) หมายถึง ข้อมูลที่ผ่านจากการประมวลแล้ว เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ  เช่น  เกรดเฉลี่ยของนักเรียน ยอดขายประจำเดือน เป็นต้น

4.    ผู้ใช้ (User) หมายถึง ผู้ใช้งานระบบสารสนเทศ  เช่น  บรรณารักษ์  พนักงานบัญชี  เป็นต้น

5.    กระบวนการทำงาน (Procedure) หมายถึง ขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ได้สารสนเทศตามต้องการ  เช่น  ในระบบการยืม-คืนหนังสือของห้องสมุด มีขั้นตอนการทำงานดังนี้คือ

(1)  สมัครสมาชิก

(2)  ทำการยืมที่เคาน์เตอร์

(3)  แจ้งวันกำหนดส่งคืนหนังสือ

(4)  รับคืนหนังสือ

(5)  คิดค่าปรับ

 

กระบวนการทำงานของระบบสารสนเทศ

      ระบบสารสนเทศประกอบด้วยกระบวนการทำงานหลัก ๆ ต่อไปนี้

1.    การนำข้อมูลเข้า (Input) เป็นการนำข้อมูลดิบที่ได้จากการเก็บรวบรวมนำเข้าสู่ระบบ เพื่อนำไปประมวลผลให้เป็นสารสนเทศ เช่น พนักงานขายบันทึกรายการขายรายวัน เพื่อนำไปคำนวณเกรดตอนสิ้นเทอม เป็นต้น

2.    การประมวลผลข้อมูล (Process) เป็นการแปลงข้อมูลดิบให้เป็นสารสนเทศ  ซึ่งการประมวลผลอาจทำได้หลายวิธี  เช่น  การเรียงลำดับ  การคำนวณ  การจัดรูปแบบ  การเปรียบเทียบตัวอย่างการประมวลผล เช่น การคำนวณรายได้พนักงานประจำเดือน จำนวนวันการขาด-ลางานของพนักงาน เป็นต้น

3.    การแสดงผล (Output) เป็นการนำผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลมาแสดงในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจได้ง่าย การแสดงผลขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ระบบสารสนเทศ เช่น ยอดขายที่ได้จากการประมวลผล ถ้าแสดงในรูปตัวเลขและข้อความธรรมดา ผู้บริหารอาจไม่ต้องการเพราะเข้าใจยาก และไม่น่าสนใจ ดังนั้นอาจจะแสดงอยู่ในรูปแบบของกราฟเปรียบเทียบยอดขายกับปีที่ผ่านมา เพื่อสามารถนำสารสนเทศนั้นไปใช้ในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

4.    การจัดเก็บข้อมูล (Storage) เป็นการจัดเก็บข้อมูลดิบ หรือสารสนเทศที่ได้จากการประมวลผล เนื่องจากเมื่อนำข้อมูลเข้าสู่ระบบอาจจะยังไม่ได้นำไปประมวลผลทันที จึงต้องมีการจัดเก็บจนถึงระยะเวลาหนึ่งแล้วค่อยนำไปประมวลผล หรือสารสนเทศที่ได้จากประมวลผลก็ต้องทำการจัดเก็บเพื่อนำไปเปรียบเทียบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต วัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดเก็บคือ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในอนาคตนั่นเอง


ลักษณะของระบบสารสนเทศที่ดี

ลักษณะของระบบสารสนเทศที่ดี มีดังนี้

1.เชื่อถือได้ (Reliable) ระบบสารสนเทศต้องผลิตสารสนเทศที่มีความเชื่อถือได้ โดยอาจจะพิจารณาจาก

 ความถูกต้องแม่นยำ (Accurate) ระบบสารสนเทศต้องมีการประมวลผลข้อมูลได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำ กล่าวคือ ทำการคำนวณด้วยวิธีเดิม ข้อมูลเดิม 10 ครั้ง ต้องได้ผลลัพธ์เท่ากันทั้ง 10 ครั้ง

ความสมบูรณ์ครบถ้วย (Complete) ระบบสารสนเทศที่ดีต้องมีฟังก์ชันการทำงานครบถ้วน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้ใช้ระบบได้มากที่สุด

 2.เข้าใจง่าย (Simple) ระบบสารสนเทศที่ดีต้องมีการใช้งานง่าย ใช้เวลาในการเรียนรู้ไม่นาน

 3.ทันต่อเวลา (Timely) ระบบสารสนเทศต้องผลิตสารสนเทศให้ทันต่อเหตุการณ์ มีระยะเวลาการรอคอยไม่นาน

 4.คุ้มราคา (Economical) ระบบสารสนเทศที่นำมาใช้งานต้องให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน

 5.ตรวจสอบได้ (Verifiable) ระบบสารสนเทศต้องสามารถตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลได้ว่า ผลลัพธ์ที่ได้หามาได้อย่างไร

6.ยืดหยุ่น (Flexible) ระบบสารสนเทศต้องสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบันได้ เช่น เมื่อมีการเปลี่ยนกฎหมายให้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบบสารสนเทศต้องสามารถปรับเปลี่ยนให้ถูกต้องตรงตามกฎหมาย หรือสามารถขยายขีดความสามารถให้รองรับการทำงานของผู้ใช้หลายคนได้ เป็นต้น

7.สอดคล้องกับความต้องการ (Relevant) ระบบสารสนเทศต้องผลิตสารสนเทศที่มีความเกี่ยวของกับการทำงาน สามารถนำไปใช้การตัดสินใจได้

8.สะดวกในการเข้าถึง (Accessible) ระบบสารสนเทศต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย

9.ปลอดภัย (Secure) ระบบสารสนเทศต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือต้องมีแผนการสำรองข้อมูลและกู้คืนข้อมูลที่อาจเกิดจากความเสียหายได้

 

ประเภทของระบบสารสนเทศ

       ระบบสารสนเทศสามารถจำแนกตามลักษณะการดำเนินงาน ได้ดังนี้

ระบบสารสนเทศประมวลผลรายการธุรกรรม

       ระบบสารสนเทศประมวลผลรายการธุรกรรม (Transaction Processing System :TPS)

เป็นระบบสารสนเทศที่เกี่ยวกับการบันทึก และประมวลผลข้อมูลที่เกิดจากการทำธุรกรรม (Transaction) หรือการปฏิบัติงานประจำ (Routine) สนับสนุนการทำงานระดับปฏิบัติการ เช่น บันทึกรายการขายประจำวัน รายการสั่งซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบ การฝากถอนเงินจากธนาคารการสำรองห้องพัก เป็นต้น สารสนเทศที่ได้อาจจะยังไม่สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจมากนัก เนื่องจากได้เป็นสารสนเทศที่เป็นรายการจำนวนมาก ยากในการนำไปใช้ในการตัดสินใจ


ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ

 ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (Management Information System:MIS) เป็นระบบสารสนเทศที่นำเอาข้อมูลที่เก็บจากระบบสารสนเทศประมวลผลรายการธุรกรรม (TPS) มาประมวลผลให้เป็นสารสนเทศเพื่อนำไปใช้ในการควบคุมการทำงาน หรือตัดสินใจในระดับปฏิบัติการสารสนเทศที่ได้จากระบบนี้จะอยู่ในรูปแบบของรายงานสรุปประเภทต่างๆ เช่น

    รายงานตามระยะเวลาที่กำหนด เป็นการกำหนดเวลาและรูปแบบไว้ล่วงหน้า เช่น จัดทำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกปี เช่น รายงานยอดขายของพนักงาน รายการชำระเงินได้กับผู้ผลิต

   รายงานสรุป เป็นรายงานสรุปการดำเนินงานโดยภาพรวม แสดงในรูปจำนวนและกราฟเปรียบเทียบ

   รายงานเมื่อมีเงื่อนไขเฉพาะเกิดขึ้น จัดทำเมื่อมีเงื่อนไขเฉพาะไม่อยู่ในกฎเกณฑ์การทำรายงานปกติ เช่น รายงานแสดงสินค้าที่มียอดขายต่ำกว่าที่คาดหวัง เป็นต้น

   รายงานตามความต้องการ รายงานประเภทนี้จัดทำเมื่อผู้บริหารต้องการ เช่น รายงานแสดงจำนวนชื่อนักเรียนที่มีเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.00 เพื่อนำไปใช้จัดกลุ่มการสอนเสริมเป็น ต้น



ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ

       ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems:DSS) เป็นระบบสารสนเทศที่รวบรวมเอาข้อมูลจากทั้งภายใน (ข้อมูลจากระบบ TPS และ MIS) และภายนอกองค์การเพื่อนำมาประมวลผลให้ได้สารสนเทศที่ช่วยผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เช่น การตัดสินใจเรื่องการคิดโปรโมชั่นของสินค้า การตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตที่ใหม่ เป็นต้น  ระบบสารสนเทศเพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจจะสร้างทางเลือกต่างๆ ให้ผู้บริหารตัดสินใจ มีความยืดหยุ่นสูงกล่าวคือ ผู้บริหารสามารถปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ เองได้ และต้องตอบสนองการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว มีการตอบโต้กับผู้ใช้

 

ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจแบบกลุ่ม

       ระบบสารสนเทศเพื่อนสนับสนุนการตัดสินใจแบบกลุ่ม

 (Group Decision Support System:GDSS) เป็นระบบสารสนเทศที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยน กระตุ้น ระดมความคิดและแก้ปัญหาหาขัดแย้งภายในกลุ่ม มักใช้ในการประชุมทางไกล การลงคะแนนเสียง และการสอบถามความคิดเห็น เป็นต้น

 

ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์

        ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เป็นระบบสารสนเทศที่ทำการจัดเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ แล้วนำมาจัดแสดงในรูปของแผนที่ดิจิทัล ซึ่งระบุที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ สามารถนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในหลายด้าน เช่น พิจารณาการกระจายตัวของประชาชน หรือทรัพยากรตามภูมิศาสตร์ การตรวจสอบเส้นทางการขนส่งสินค้าการแก้ปัญหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น

ระบบสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง

        ระบบสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง (Executive Information Systems : EIS) เป็นระบบสารสนเทศที่ช่วยสนับสนุนการวิเคราะห์ปัญหา ศึกษาแนวโน้มในเรื่องที่สนใจ ส่วนใหญ่จะนำเสนอสารสนเทศในรูปแบบรายงาน ตาราง กราฟ เพื่อสรุปสารสนเทศให้ผู้บริหารเข้าใจได้ง่าย และประหยัดเวลา ข้อมูลที่ใช้มาจากทั้งภายใน และภายนอกขององค์การตัวอย่าง เช่น กราฟแสดงสภาวะทางเศรษฐกิจ หรือกราฟเปรียบเทียบยอดขายกับบริษัทคู่แข่งเป็นต้น

ปัญญาประดิษฐ์

           ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คือ การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้มีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการเรียนรู้และความสามารถทางประสาทสัมผัส ซึ่งเลือกแบบการเรียนรู้และการตัดสินใจของมนุษย์ (Laudon & Laudon , 2002)


          ระบบสารสนเทศสำนักงาน (Office Information Systems : OIS  หรือ Office Automation Systems : OAS ) เป็นระบบที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารเช่น การจัดทำเอกสาร รายงาน จดหมายธุรกิจ การส่งข้อความ การบันทึกตารางนัดหมาย การค้นหาข้อมูลจากเว็บเพ็จ และลการรับส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 

จบแว้ว


Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 71,723 Today: 19 PageView/Month: 64

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...